http://aseanwatch.org/2016/03/29/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-enhancing-asean-sub-regional-labour-cooperation-to-realize-the-sustainabl/
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 สถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงแรงงานของไทย จัดการสัมมนานานาชาติ “Enhancing ASEAN Sub-regional Labour Cooperation to Realize the Sustainable Development Goals” ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน
งานสัมมนาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และแรงงานในภูมิภาคอาเซียนในประเด็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของแรงงานย้ายถิ่นในบริบทประชาคมอาเซียน รวมทั้งมุ่งหาหนทางในการสร้างความร่วมมือด้านแรงงานอย่างยืดหยุ่นและครอบคลุม เพื่อทำให้เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติเป็นจริง ทั้งยังมุ่งสนับสนุนความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างเวียดนามกับไทยอีกด้วย
นายเหงวียน ตั๊ด แถ่ง (Nguyen Tat Thanh) เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยในฐานะตัวแทนของรัฐบาลเวียดนาม กล่าวเปิดงานสัมมนาโดยชี้ให้เห็นความสำคัญของแรงงานย้ายถิ่นต่อภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเวียดนามและไทยในฐานะประเทศผู้ส่งและผู้รับตามลำดับ ล่าสุด ไทยและเวียดนามเพิ่งลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยแรงงานย้ายถิ่นระหว่างทั้งสองประเทศ อันสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในความร่วมมือด้านการจัดการแรงงานระหว่างกัน โดยเขาเห็นว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและต่อตัวแรงงานย้ายถิ่นเอง ขณะเดียวกัน ความพยายามในการร่วมมือและวิธีการอย่างครอบคลุมของรัฐบาลในอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทบทวนนโยบายระดับภูมิภาค นโยบายระดับประเทศให้ตรงกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
ประเด็นสำคัญของงานสัมมนาครั้งนี้เน้นหนักไปที่ 3 ด้าน ได้แก่ (1) แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการแรงงานที่เกี่ยวโยงกับการกำหนดนโยบายและบทบาทของรัฐบาล องค์กรต่างๆ และภาคธุรกิจในการจัดการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก (2) ประเด็นความท้าทายของการจัดการแรงงานระหว่างและในหมู่ประเทศกลุ่ม CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเวียดนามกับไทย และ (3) การแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและยั่งยืนเพื่อยกระดับความร่วมมือแบบทวิภาคีและอนุภูมิภาค
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจในงานสัมมนาครั้งนี้ เริ่มต้นจากนายเดวิด ลามอตต์ ผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เล่าประสบการณ์การทำงานด้านแรงงานย้ายถิ่นและชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในการดูแลสิทธิและคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นกำลังการผลิตหลักของหลายประเทศ เขาชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการย้ายถิ่นของแรงงาน แต่การจะดูคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของพวกเขาจำต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติของทุกภาคส่วนในทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศควรตระหนักถึงความเปราะบางในชีวิตของแรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ให้มาก
นางเมกา อิเรน่า จากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติกับเป้าหมายของอาเซียนที่ปรากฏในพิมพ์เขียวของประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน เธอชี้ให้เห็นภาพรวมของการย้ายถิ่นแรงงาน โดยแรงงานย้ายถิ่นส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำหรือทักษะปานกลาง และมักเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงและไม่ค่อยปรากฏในเอกสารสำคัญๆ ของอาเซียนนัก เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานมีทักษะ ซึ่งเป็นเพียงร้อยละ 1 ของแรงงานที่ย้ายถิ่นจริงๆ ในภูมิภาค การเพิกเฉยต่อแรงงานย้ายถิ่นทักษะต่ำเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ในแง่สวัสดิการและความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ เธอยังกล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือที่เกี่ยวกับการจัดการแรงงานและกล่าวถึงอุปสรรคบางประการที่ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวคืบหน้าไปได้อย่างล่าช้า
สุดท้าย นางมาเรีย โมตุส จากองค์การองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ฉายภาพให้เห็นถึงความจำเป็นของการย้ายถิ่นและแรงงานและระบุว่าเราต้องมองแรงงานย้ายถิ่นในฐานะที่สิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้และพึงปรารถนา มองเห็นประโยชน์ร่วมกันของตัวแรงงานและประเทศที่แรงงานเหล่านั้นอพยพเข้ามาทำงาน ซึ่งหมายถึงการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เอง เธอชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการจัดการแรงงานย้ายถิ่นที่ผ่านๆ มา อาทิ การใช้เวลาและทรัพยากรไปมากในการจัดการบันทึกความเข้าใจ (MoU) แต่ละฉบับ การขาดระบบการจัดหาและติดตามแรงงานย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ การค้ามนุษย์ ตลอดจนข้อจำกัดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่แรงงานก่อนการเดินทางไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการคุ้มครองสิทธิและคุณภาพชีวิตของแรงงานเอง ขณะเดียวกัน เธอได้ให้ภาพรวมถึงพัฒนาการล่าสุดในแง่นโยบายแรงงานของชาติสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ พร้อมเสนอทางออกของปัญหาต่างๆ โดยแต่ละชาติต้องมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการแนวทางการจัดการแรงงานระหว่างประเทศเข้ากับนโยบายในระดับชาติและภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการขยายความร่วมมือในการรับมือกับประเด็นเกี่ยวกับการย้ายถิ่นต่างๆ
No comments:
Post a Comment